ซึ่งจะช่วยให้คุณมีความสุขได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม
ญี่ปุ่นถือว่าเป็นหนึ่งในชาติที่ได้รับการยกย่องว่ามีประชากรที่มีคุณภาพมากที่สุด รวมถึงมีอายุยืนมากที่สุดในโลก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่ชาวอาทิตย์อุทัยมีหลัก ปรัชญาชีวิตญี่ปุ่น ที่หลากหลาย สามารถเลือกนำมาปรับใช้ได้ครอบคลุมทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น การใช้ชีวิตประจำวัน การเรียน การทำงาน ความรัก และการมีชีวิตอย่างมีความสุข ดังนั้นลองมาดูกันดีกว่าว่า ปรัชญาชีวิตที่น่าสนใจของชาวญี่ปุ่น ซึ่งจะช่วยให้คุณมีความสุขได้ง่ายๆ นั้นมีอะไรกันบ้าง
อิคิไก (Ikigai) (生き甲斐)
อิคิไก (Ikigai) (生き甲斐) เป็นปรัชญาชีวิตญี่ปุ่นที่โด่งดังมากในโลกออนไลน์ เหมาะสำหรับคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่กำลังมองหาความสุขและความสำเร็จในชีวิต อิคิไก หมายถึง จุดมุ่งหมาย หรือ เหตุผลของการมีชีวิตอยู่ คือปรัชญาเซนที่ต้องการให้มนุษย์ชื่นชมความงามของสิ่งรอบตัว ด้วยการการสร้างความสุขและสุขภาพที่ดีของร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ ผ่านการรู้สึกตัวและการค้นพบตัวตน สามารถเข้าใจได้ผ่านหลักการสี่ข้อที่สามารถวาดแผนผังวงกลมสี่วงตัดกัน ได้แก่ วงกลมของสิ่งที่ตัวเองรัก – สิ่งที่เราทำได้ดี – สิ่งที่ทำแล้วสามารถหาเงินได้ – และสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อโลก
อิคิไก ประกอบขึ้นด้วยสองคำคือ อิคิ (iki) ที่แปลว่า ชีวิต และ ไก (gai) ที่แปลว่า คุณค่าทางจิตใจ ซึ่ง อิคิไก ไม่ใช่สิ่งพิเศษที่จะต้องค้นหา เพราะเป็นแนวคิดที่ฝังลึกในวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิต จุดมุ่งหมายของปรัชญานี้คือ การสร้างวงกลมที่สมดุลของคุณเองขึ้นมาจากหลักการสี่ข้อด้านบน โดยหากค้นหาตัวเองพบว่า ชอบอะไร และ ทำอะไรได้ดี ก็สามารถวางเป้าหมายให้ชัด หมั่นฝึกฝน ลงมือทำจนสำเร็จ และตอบแทนคืนสู่สังคม ทั้งหมดนี้จะทำให้คุณตระหนักและเห็นคุณค่าของการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้มากกว่าที่คิด
คินสึงิ (Kintsugi) (金継ぎ)
คินสึงิ (Kintsugi) (金継ぎ) คือปรัชญาที่ว่าด้วยเรื่องของการเยียวยาจิตใจ และมองเห็นความสวยงามของบาดแผลในชีวิต ซึ่งต่อยอดมาจากปรัชญาการซ่อมแซมภาชนะที่แตก บิ่นเสียหาย ด้วยรักทองของชาวญี่ปุ่น เชื่อกันว่า ถ้วยชามที่แตกบิ่นนั้นไม่ควรทิ้งขว้าง แต่ควรซ่อมมันด้วยรักทองเพื่อให้พวกมันกลับคืนมามีชีวิตอีกครั้ง จนกลายมาเป็น ศิลปะแห่งความงามในความไม่สมบูรณ์ และถูกพัฒนามาเป็นปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับ การเรียนรู้วิธีจัดการตัวเอง เมื่อต้องเผชิญกับความสูญเสีย
คินสึงิ เปรียบชีวิตของเราเป็นดังถ้วยชาที่แตกร้าว การซ่อมแซมถ้วยที่แตกร้าวอย่างใส่ใจและเต็มไปด้วยความรัก จะทำให้เราเข้าใจว่า เราควรยอมรับ เคารพในรอยร้าวและรอยแผลเป็น ความอ่อนแอ และความไม่สมบูรณ์พร้อมทั้งในตัวเราและผู้อื่น เพื่อพบความสุขที่แท้จริงในชีวิต โดย วิถีคินสึงิ เน้นนำเสนอการรับมือกับความเศร้าจากมุมมองแบบญี่ปุ่น ต่อความพังพินาศในชีวิต ด้วยการเรียนรู้จากชิ้นส่วนแตกหักที่กอบเก็บมันขึ้นมา ประสานรอยแผลให้งดงาม และเดินหน้ามีชีวิตอยู่ต่อไป
อิจิโกะ อิจิเอะ (Ichigo-ichie) (一期一会)
อิจิโกะ อิจิเอะ (Ichigo-ichie) (一期一会) เป็นวลีเด็ดของคนญี่ปุ่นที่หมายความว่า การได้พบกันครั้งเดียว ซึ่งต้นกำเนิดของคำนี้มาจากพิธีชงชาของนิกายเซน เนื่องจากการที่ได้พบกับใครคนหนึ่งในงานพิธีชงชา จะเป็นโอกาสที่ได้พบกันครั้งเดียวแล้วอาจจะไม่มีโอกาสได้พบกันอีกเลยก็เป็นได้ ดังนั้น ช่วงเวลาที่ได้พบกันเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุด ต่อมา อิจิโกะ อิจิเอะ ถูกตีความและนำมาปรับใช้เป็นปรัชญาชีวิต โดยเฉพาะในการทำงานว่า เราควรปฏิบัติและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีแก่คนที่เราได้พบเจอหรือลูกค้าอย่างดีที่สุด เพราะมันอาจเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่ได้พบกัน
หากเราทุกคนใช้ชีวิตโดยมองว่า อิจิโกะ อิจิเอะ หรือ หนึ่งชีวิต หนึ่งพบ เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันทุกวัน คุณจะให้ความสำคัญกับทุกเสี้ยววินาที ทำทุกอย่างในชีวิตด้วยความตั้งใจ และดีที่สุด เพื่อสร้างความประทับใจ ให้กับ คนรอบตัวมากกว่าเดิม ซึ่งเท่ากับว่า หลังจากนั้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม คุณจะไม่เสียใจเลย เพราะได้ปฏิบัติกับผู้คนที่เข้ามาในชีวิต อย่างเต็มความสามารถที่มีแล้ว ซึ่งจะเห็นได้จาก วัฒนธรรมการต้อนรับและการจากลาของคนญี่ปุ่นทุกบ้าน ที่ใช้หลักการของ อิจิโกะ อิจิเอะ มาเป็นต้นแบบ ไม่ว่าจะเป็นการดูแล รองรับ ผู้มาเยือนอย่างเต็มที่ และ อำลาแขกจนลับสายตา
วาบิซาบิ (Wabi-Sabi) (侘寂)
วาบิซาบิ (Wabi-Sabi) (侘寂) อีกหนึ่งปรัชญาชีวิตของชาวญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมแพร่หลาย คือแนวทางความงามและสุนทรียภาพตามแบบของศาสนาพุทธนิกายเซนที่พบได้ทั่วไปตามศิลปะวัฒนธรรมแขนงต่างๆ ของญี่ปุ่น ตั้งแต่การจัดดอกไม้ ชงชา งานศิลปะ จัดสวน ไปจนถึงการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่อยู่อาศัย แนวคิดของ วาบิ-ซาบิ ยึดถือ ความสุขทางใจ ว่ามีคุณค่ามากกว่าการยึดติดกับความงามทางวัตถุ จึงพยายามพบความงามตามสิ่งที่เปลี่ยนแปลงแล้วทิ้งร่องรอยไว้ อาทิ ความผุพังของเศษใบไม้ รอยแตกบนถ้วยชา กำแพงปูนที่สีหลุดลอก คราบสนิมของเศษเหล็ก ริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า สีเขียวของมอสบนก้อนหิน แผลเป็นบนผิวหนัง เป็นต้น
วาบิซาบิ มีความคล้ายกับ คินสึงิ ทว่า วาบิซาบิ ไม่ได้มีไว้รับมือกับความสูญเสีย แต่เป็นวิสัยทัศน์ ค่านิยมในการดำรงชีวิตที่ฝังรากลึกอยู่ในจิตวิญญาณของชาวญี่ปุ่น หล่อหลอมให้พวกเขาเห็นคุณค่าของความเรียบง่าย ความสมถะ ความงามของธรรมชาติ ความไม่สมบูรณ์แบบและความไม่จีรังของสิ่งรอบๆ ตัว โดย วาบิซาบิ มีจุดเริ่มต้นมาจากพิธีชงชาเขียวและชมพระจันทร์ ซึ่ง วาบิ หมายถึงความไม่สมบูรณ์แบบหรือความเรียบง่ายไม่สวยจนเด่น ส่วน ซาบิ หมายถึงความไม่จีรังของสรรพสิ่งและความผุพังตามธรรมชาติที่ต้องเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ รวมเป็น การไม่ยึดติดในความสมบูรณ์แบบ และชื่นชมความสวยงามที่ไม่สมบูรณ์แบบของสิ่งต่างๆ ในชีวิต
โคดาวาริ (Kodawari) (こだわり)
โคดาวาริ (Kodawari) (こだわり) คือ วิถีแห่งการพัฒนาตัวเองของคนญี่ปุ่นที่ได้รับการยกย่องจากคนทั่วโลก เป็นปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับการทำงานโดยตรง จากผลงานของผู้คนในแดนปลาดิบ ไม่ว่าจะเป็น การรักษาคุณภาพของสินค้า การบริการได้อย่างยอดเยี่ยม แทบไม่มีที่ติ บ้านเมืองสะอาดสะอ้าน สินค้าที่ออกวางจำหน่ายก็ได้มาตรฐานระดับโลก ผู้คนมีความรับผิดชอบ ตรงต่อเวลา มีระเบียบวินัย ฯลฯ เหล่านี้มาจากปรัชญา โคดาวาริ กับความตั้งใจแน่วแน่ในการทำบางสิ่งให้ออกมาดีที่สุด ใส่ใจในรายละเอียด ปราณีตบรรจง พิถีพิถัน เรียนรู้ ทบทวน พัฒนาตนเองให้สามารถสร้างงานที่มีคุณภาพขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็น มาตรฐานการทำงานแบบญี่ปุ่น
ขณะเดียวกัน โคดาวาริ ยังแฝงแนวคิดการรับผิดชอบทั้งต่อตัวเองและสังคม เคารพในงาน รวมถึงสร้างความภาคภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองทำว่าเป็นสิ่งที่มีความหมาย ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ซึ่งจะเห็นได้ว่า คนญี่ปุ่นเวลาลงมือทำอะไร จะทุ่มเทอย่างเต็มที่ สุดชีวิต มีความจริงจังในทุกเรื่อง ไม่ปล่อยผ่านหรือผ่อนปรนให้กับสิ่งใด แม้ว่าจะฟังดูตึงเครียดไปบ้าง แต่หลักการนี้ก็ช่วยพิสูจน์ได้ว่า การทำงานที่มาจากข้างใน ทำให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นเลิศ และในทางอ้อมยังสร้างความสุขให้กับชีวิตคนทำงาน ช่วยขจัดความรู้สึก ท้อแท้ ห่อเหี่ยว เบื่อหน่าย ออกไป เพราะมีโฟกัสในการสร้างผลงานดีๆ ขึ้นมาในทุกๆวัน
โอโมเทะ นาชิ (Omotenashi) (おもてなし)
โอโมเทะ นาชิ (Omotenashi) (おもてなし) หัวใจนักบริการ ฟัง เข้าใจ และคิดถึงผู้อื่น มีรากศัพท์มาจากคำว่า Omote – โอโมเทะ แปลว่า เบื้องหน้า และ Nashi – นาชิ แปลว่า ไม่มี ความหมายรวมๆ จึงหมายถึง การบริการแบบที่ไม่มีเบื้องหน้า เบื้องหลัง หรือบริการอย่างบริสุทธิ์ใจ Omotenashi ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการวัดมาตรฐาน การบริการของบริษัทต่างๆ ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านหนังสือ ซูเปอร์มาเก็ต โรงแรม การท่องเที่ยว ฯลฯ โดยแบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ
ตราสีแดง (ไม่มีดาว) มีแรงจูงใจและความพยายามในการปรับปรุงการบริการ ตราสีทอง (1 ดาว) มีการให้บริการตามความคาดหวังของลูกค้า ตราสีกรม (2 ดาว) มีการบริการที่มีความริเริ่มสร้างสรรค์เป็นที่สะดุดตา ตราสีม่วง (3 ดาว) มีการให้บริการ ที่เหนือความคาดหวังของลูกค้า ให้บริการก่อนที่ลูกค้าจะร้องขอ
คือปรัชญาญี่ปุ่นที่ทำให้เรารู้คุณค่าในงานของตัวเอง ที่ทำให้ลูกค้ามีชีวิตที่ดีขึ้นได้ ที่เข้าไปอยู่ในหัวใจของร้านซูชิชื่อดังของคุณปู่ชิโร่ ระดับมิชลินสตาร์ ที่ใส่ใจในรายละเอียดในการคัดสรรวัตถุดิบ และการลงมือทำ ถึงขั้นสังเกตขนาดปากของลูกค้าทุกคน และปั้นซูชิให้กับลูกค้าผู้หญิงด้วยคำเล็กๆ พอดีปากเพื่อจะได้ทานง่าย หรือการเสิร์ฟซูชิสำหรับลูกค้าที่ถนัดมือซ้าย เพื่อหยิบรับประทานได้ง่ายขึ้น
แม้แต่กรณีที่รถแท็กซี่ญี่ปุ่น พนักงานขับรถที่ถูกฝึกฝนมาอย่างดี ในการต้อนรับผู้สูงวัย การเปิดประตูให้กับลูกค้า การพูดแนะนำตัว พนักงานจะพูดถึงการจะออกตัวรถกับลูกค้า เพื่อไม่ให้ลูกค้ารับแรงกระชากของรถโดยไม่รู้ตัว และเมื่อลูกค้าลืมเสื้อในรถ พนักงานจะเอาไปซักรีดก่อนจะเอาเสื้อไปคืนลูกค้า
เรียกได้ว่ามีความสังเกตและใส่ใจลูกค้าเป็นอย่างมาก จนกลายเป็นบริการมัดใจลูกค้า และสร้างความประทับใจมิรู้ลืม
เหล่านี้คือ ปรัชญาชีวิตญี่ปุ่น ของชนชาติที่ประสบความสำเร็จและมีความโดดเด่นที่สุดชนชาติหนึ่งของอารยธรรมโลก Zenniku หวังว่าจะมีประโยชน์ในการเรียนรู้ และนำไปปรับใช้เพื่อพัฒนาชีวิตให้กับพวกเราทุกคนนะครับ Source : - https://bit.ly/3zCQwAU - https://onceinlife.co/concepts-of-japan Create : Zenniku ============================ เรื่องราวของการสร้างพลังแห่งความสุขในวิถี Zen หลักธรรมในการดำเนินชีวิต อาหาร ความสวยความงาม ดีไซน์ เทคโนโลยี ในสไตล์ญี่ปุ่น เพื่อยกระดับชีวิตให้มีความสุขยิ่งขึ้น Facebook : ความสุขวิถี ZEN, เนื้อแดดเดียวสูตรญี่ปุ่น Zenniku Blockdit : ความสุขวิถี ZEN Instagram : zenniku.zenway
Comments