จะแน่ใจได้อย่างไรว่า ความรู้สึกดีที่คุณมีอยู่ตอนนี้คือ “ความสุขที่แท้จริง?”
ความสุขที่ดีคืออะไร ความสุขสามารถเกิดขึ้นได้อย่างไร จะต้องทำอย่างไรฉันจึงจะมีความสุข นี่เป็นประเด็นฮอตฮิตตอนนี้ที่บรรดาไลฟ์โค้ชเอาเป็นธงนำในการพูดให้คนฟัง โดยไม่เข้าใจบริบทระดับปัจเจกของแต่ละบุคคล เหมารวมชีวิตทุกชีวิตว่ามีรูปแบบเหมือนตน แต่ถ้าเราย้อนกลับไปดูจริงๆ ก็จะพบว่า ความสุขนั้นถูกพูดถึงมานักต่อนักตั้งแต่สมัยกรีกโบราณก่อนคริสตกาลเป็นร้อยๆ ปี มีการหานิยาม สร้างความหมาย ตั้งคำถามและอธิบายใหม่อยู่ตลอดเวลาสำหรับในแวดวงนักปรัชญา แล้วสำหรับตัวคุณเอง ถ้าให้คุณพูดถึงความสุข หลายๆ คนก็อาจจะพูดถึงกิจกรรมอย่างการดูหนัง ฟังเพลง ช้อปปิ้ง อ่านหนังสือ ไปคอนเสิร์ต หรือถ้าหากจะพูดในเชิงความความรู้สึก ก็คือสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกดี ไม่ว่าจะเป็นผลมาจากตัวเองหรือรับมาจากบุคคลที่สองหรือสาม สาเหตุที่เราอยากยกแนวคิดของนักปรัชญามาพูดถึงเรื่องความสุข เพราะผู้เขียนมองว่า ความสุขเป็นเรื่องที่ไม่มีอะไรตายตัว ขึ้นอยู่กับเราจะใช้มุมมองไหนทำความรู้จักกับมัน เช่นกันกับบรรดานักปรัชญาทั้งหลายที่อุทิศชีวิตตัวเองต่อการตั้งคำถามและมุ่งมั่นพิสูจน์สิ่งที่ตัวเองคิดและเชื่อ ถูกบ้างผิดบ้างตามวัฏจักร ซึ่งตรงนี้คือหัวใจของปรัชญา ไม่มีความคิดของใครผู้ใดผู้หนึ่งเป็นสิ่งตายตัว หรือความจริงที่คงอยู่ถาวร มีแต่สิ่งๆ หนึ่งที่เกิดขึ้น เพื่ออธิบายต่อกงล้อเวลาหรือบริบทตอนนั้นเท่านั้น นักปรัญชาที่โด่งดังมีมากเกินที่จะเลือกมาแนะนำได้ทั้งหมด แต่ที่ผู้เขียนได้หยิบจับมานี้เป็นเพียงแนวคิดที่ชวนสนุกและเป็นใบเบิกทางให้กับใครที่ยังไม่เคยเปิดใจเข้าหาทางธรรม (ปรัชญา) ได้ลองก้าวเข้ามาดู บางทีคุณอาจจะได้คำตอบที่คุณตามหามานานหรือคำถามที่เกิดขึ้นอยู่ในใจของคุณอย่างไม่รู้จบเลยก็ว่าได้ เราจึงเลือกนักปรัชญา 4 คนที่มีแง่มุมมองเกี่ยวกับความสุขที่แตกต่างกันไป โดยเริ่มชื่อที่คาดว่าหลายคนน่าจะคุ้นหูอย่าง อริสโตเติล ที่บอกว่าความสุขอันแท้จริงต้องสัมผัสได้ อีกคนหนึ่งในยุคกรีกเหมือนกันอย่าง เซเนกา การรู้จักเป้าหมายของตนนั้นคือหนทางแห่งความสุขในชีวิต ข้ามมาที่ประเทศอังกฤษในศตวรรษที่ 18 เจเรมี เบนแธม ความสุขจะเกิดจากอะไรก็ได้ไม่สำคัญตราบใดที่เรารู้สึกและจอห์น สจ๊วต มิลล์ อิสรภาพในการเติบโต คือสิ่งสำคัญในการบันดาลความสุข
Aristotle (385 BC-323 BC)
ตอนต้นที่ได้ยกตัวอย่างไปว่า ความสุข หากนึกเร็วๆ สิ่งที่โผล่มาอย่างแรก แน่นอนจะต้องเป็นภาพกิจกรรมที่เราชอบทำ งานอดิเรกต่างๆ ในวันพักผ่อน แต่ถ้าถามอริสโตเติลผู้นี้ว่า สิ่งเหล่านั้นถือว่าเป็นความสุขหรือไม่ คำตอบคือ “ไม่” สำหรับอริสโตเติลนั้น “การแสวงหาความสุข” ไม่ใช่การกระทำที่ก่อให้เกิดความพึงพอใจประเดี๋ยวประด๋าว ฉะนั้นการออกไปใช้ชีวิตอย่างสำเริงสำราญก็มิใช่ความสุข แต่เป็นเพียงแค่ความเพลิดเพลิน สำหรับเขาความสุขจะต้องมีความเป็นภววิสัย (Objectivity) มากกว่าแค่ความชั่วคราว
ตัวเขานั้นเชื่อว่า ความสุขจะเกิดขึ้นได้จริงต้องมีระยะเวลา ที่อาจจะนานทั้งชีวิตหรือมากกว่านั้นไปจนชีวิตหลังความตาย โดยมีชุดความคิดที่เรียกว่า “ยูไดโมเนีย” (Eudaimonia) มันคือผลพวงของความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนเราเกิดไปจนถึงตอนเราตาย ซึ่งถ้าสมมติว่าเราได้จากโลกใบนี้ไปแล้ว แต่คนที่เรารู้จักนั้นเกิดอุบัติเหตุหรือประสบเรื่องไม่ดีเข้า ยูไดโมเนียของเราก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย ความคิดนี้ของอริสโตเติลได้สะท้อนให้เห็นว่า เขาเป็นคนเชื่อการพัฒนาศักยภาพในระดับตัวบุคคลมาก เขาเชื่อว่า มนุษย์นั้นจะมีคุณธรรมที่ดีได้ การเติบโตในวัยเด็กมีส่วนสำคัญอย่างมาก ด้วยพื้นฐานที่เขาเชื่อในธรรมชาติของมนุษย์ สิ่งที่จะสนับสนุนให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีได้ คือการสามารถใช้เหตุผลได้ ที่จะเลือกจะทำอะไรและเป็นอะไร การสร้างและประคองยูไดโมเนียให้สมบูรณ์ได้จะต้องเกิดจากการประพฤติดี สุดท้ายเขาเชื่อว่า มนุษย์เป็นสัตว์การเมือง ถ้าหากจะอยู่รอดได้อย่างมีความสุข ต้องสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คนรอบข้าง ความคิดของอริสโตเติลค่อนข้างจะเป็นสิ่งที่เราเห็นผู้คนในสมัยนี้ชอบพูดถึง ความสุขที่แท้จริงไม่ใช่สิ่งนอกกาย แต่คือการทำสิ่งที่ถูกต้องทำสิ่งที่ควรจะทำ คุณค่านี้จะทำให้ประสบพบเจอความสุขที่แท้จริง
Seneca The Younger (4 BC-65 CE)
หลายครั้งที่คุณได้รับคำแนะนำจากคนข้างๆ ว่า ให้อยู่นิ่งๆ ให้ปล่อยวาง เวลามีอะไรเข้ามารบกวนจิตใจแล้วเราจะไม่ทุกข์ ความคิดดังกล่าวอาจจะเป็นรากฐานมาจากแนวคิดที่ชื่อว่า สโตอิก (Stoic) ก็เป็นได้ ที่มีที่มาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ สำนักนี้เชื่อว่า อารมณ์เป็นปริปักษ์การดำรงชีวิต พวกเขาเชื่อว่าอารมณ์จะเข้ามาบดบังความสามารถการใช้เหตุผล อารมณ์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำใดๆ ทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้นั้น ในฐานะมนุษย์เรามีสิทธิ์เลือกได้ที่จะปฏิเสธการมีอยู่ของมัน เพราะมันเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา แม้ว่าแนวคิดของสำนักนี้อาจจะดูสุดโต่ง แต่สำหรับเซเนกา ผู้เผยแพร่แนวคิดในรุ่นที่ 2 ได้สนใจในเชิงสร้างสรรค์กว่า และน่าสนใจที่ว่า มันเข้ากับยุคสมัยนี้ด้วยกับเรื่องความชราที่เป็นสัจธรรมของชีวิต โดยเขาคิดว่า จะทำอย่างไรในช่วงระยะเวลาอันแสนสั้นที่เหลือจะทำให้เกิดความสุขขึ้นมาได้ เราคงต้องเคยได้ยินกันแน่ๆ ที่ว่า คนแก่ชอบบ่นอยากมีชีวิตนานกว่านี้สักหน่อย จะได้ทำนู่นทำนี่ หรือชอบเตือนเด็กๆ ว่า จะทำอะไรก็รีบทำก่อนจะสายไป เซเนกาไม่เชื่อความคิดพวกนี้เลยแม้แต่น้อย เขาเชื่อว่า ในความเป็นจริงนั้นชีวิตคนเราไม่ได้สั้น แต่เป็นเพราะว่าเรานั้นใช้เวลาอย่างผิดที่ผิดทาง และสนใจดอกไม้ริมทางมากกว่าที่จะมุ่งเข้าหาสิ่งที่เป็นแก่นสารของตัวตนจริงๆ (จริง!) เพราะสุดท้ายเมื่อวันใดที่เดินทางถึงบั้นปลายชีวิต การได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองมากที่สุด จะทำให้เราไม่ทุกข์และไม่ต้องมานั่งพึมพำเสียใจตอนหลัง ซึ่งจะทำได้นั้นตามหลักอุดมคติของสโตอิกคือ การอยู่อย่างห่างไกลผู้อื่น อาจจะตีความการห่างไกลได้หลายอย่างในปัจจุบัน ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ชีวิตสันโดษไม่พบผู้คน แต่อาจจะเป็นการปลีกตัวเองออกมาจากพื้นที่นั้นๆ (ทั้งกายภาพและจิตใจ) เพื่อทำให้เรามีสมาธิบนถนนสายหลักที่กำลังเดินทางอยู่
Jeremy Bentham (1748-1832 )
สำหรับใครที่เชื่อว่า ความสุขของคนเราก็แค่ความรู้สึกดีที่เกิดขึ้นกับเราไงล่ะ เบนแธมอาจจะเป็นนักคิดที่คุณโปรดปราน สองคนก่อนหน้านี้ไม่พูดถึงเรื่องความรู้สึกกับความสุขเลย แต่เขาผู้นี้ทำให้มันเรียบง่ายขึ้น นิยามของความสุขของเขาคือ ความรู้สึกดี ความรู้สึกพึงพอใจที่เกิดขึ้นกับเรา ที่สำคัญคือ เขาเชื่ออย่างสนิทใจว่า ประสบการณ์ความสุขในแต่ละครั้งของเรานั้นสามารถประมาณค่าได้ ไม่ว่าความสุขเหล่านั้นจะเกิดจากการไปดูแสงเหนือที่ไอซ์แลนด์ หรือการกินบราวนี่ที่อบเองในวันหยุด หากปริมาณความสุขที่เกิดขึ้นของสองกิจกรรมนี้มันเท่ากัน ถือว่ามีความสุขเท่ากัน แม้ในสายตาใครบางคนอาจจะดูว่ามันช่างต่างกันไปมาก ความคิดของเขาจึงเป็นที่ไม่ชอบใจของผู้คนในชนชั้นสูงในศตวรรษที่ 18 เพราะความเท่าเทียมที่เขากำลังสร้างขึ้นมันได้สั่นคลอนรากฐานของสังคมศักดินา เพราะสิ่งที่เขาเสนอไปนั้นคือ การไม่มีเส้นแบ่งว่าความสุขไหนที่ด้อยค่าไปกว่ากัน เบนแธมมีวิธีการคำนวณความสุขง่ายๆ คือ นำพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความสุขนั้น มาหักลบกับความรู้สึกแย่ต่อพฤติกรรมนั้น ค่าที่ออกมาได้จะเป็นสิ่งที่เขาเรียกว่า อรรถประโยชน์ (utility) ความมีประโยชน์นี้เองที่เขาเชื่อว่าจะเป็นตัวนำในการพาสังคมให้เป็นสุขได้ ถ้าแต่ละคนสามารถรู้ว่าพฤติกรรมใดที่ตัวเองทำแล้วมีความสุข และเพิ่งทำมันอยู่ตลอด สังคมจะเป็นความสุข แม้ภายหลังทฤษฎีของเขาจะโดนโจมตีและถูกทำให้ไม่น่าเชื่อถือ เพราะความเป็นจริงในปัจจุบันก็ไม่มีใครที่จะเพิ่งกระทำสิ่งใดสิ่งเดียวไปตลอด แต่อย่างน้อยความเท่าเทียมทางความสุขที่เขาคิดขึ้นก็เป็นคุโณปการที่ทำให้เรารู้จักรักและมีความสุขต่อสิ่งรอบตัวได้อย่างเรียบง่าย
John Stuart Mill (1806-1873)
ก่อนหน้านี้ในสถานการณ์ที่บ้านเราเจอกับฝุ่น PM 2.5 หนักๆ ทำให้เรารู้สึกอึดอัดทั้งกายและใจ เชื่อไหมครับว่าความรู้สึกเหล่านี้ไม่เพียงมาขัดไม่ให้เรามีความสุข มันยังส่งผลต่อการเติบโตในชีวิต ทำให้ใครหลายคนใคร่ครวญ คิดจริงจังเกี่ยวกับการย้ายไปอยู่ที่ประเทศที่เอื้ออำนวยให้ชีวิตของเขารายล้อมด้วยสภาวะที่ดี ซึ่งตรงนี้มันก็ตรงกับสิ่งที่มิลล์เสนอในศตวรรษที่ 19 หากจำกันได้อริสโตเติลก็ได้เคยพูดว่า การพัฒนาศักยภาพบุคคลในวัยเยาว์นั้นสำคัญที่สุด ก็คงจะเป็นจริงอยู่ไม่น้อยกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับมิลล์ เขาเชื่อว่า ความสุขจะเกิดขึ้นได้ต้องผ่านการเติบโตอย่างอิสระ ไม่ถูกจำกัดพื้นที่ เหมือนต้นไม้ที่สมบูรณ์เติบโตได้อย่างเต็มกำลังในดินที่เหมาะและภูมิศาสตร์ที่ดี การมีรากฐานมั่นคงและกิ่งก้านที่เบ่งบานสะท้อนถึงเสรีภาพในการดำรงชีวิตด้วย เสรีภาพในการเติบโตนั้นจะส่งเสริมให้คนมีความสุข ซึ่งความสุขตรงนี้มิลล์เชื่อว่า ตัวเราเองในระดับปักเจกจะรู้จักหน้าตาของพฤติกรรมความสุขของตัวเองนั้นได้ดีกว่าใครๆ ประเด็นนี้ในยุคนั้นเขาต้องการสะท้อนว่า การที่รัฐเข้ามามีอำนาจและบทบาทในการกำหนดความสุขของคนนั้นเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมและความสุขสูงสุดที่เกิดต่อแต่ละบุคคลที่เขาว่านั้นจะทำสังคมมีความสุขตามไปด้วย จะว่าไปมิลล์นั้นเรียกว่า เป็นศิษย์ของเบนแธมเลยก็ว่าได้ เพราะในวัยเด็กการใช้เวลากับเบนแธมถือว่า เป็นกิจวัตรประจำในทุกวันหยุดของเขา แต่แนวคิดของเขานั้นกลับไม่เห็นด้วยกับอาจารย์เรื่องความสุขที่แต่ละแบบจะสามารถมีคุณค่าที่เท่ากันได้ ความคิดตรงนี้สะท้อนในแง่มุมเรื่องของเสรีภาพในการใช้ชีวิตด้วย โดยเรามีสิทธิ์ที่จะเลือกให้คุณค่าต่อสิ่งใดมากกว่าสิ่งหนึ่งเสมอ แต่ในความต่างก็มีสิ่งที่เหมือน เนื่องจากมิลล์เป็นนักคิดสายอรรถประโยชน์นิยมเหมือนเบนแธม เขาบอกว่า ปริมาณของเสรีภาพที่มนุษย์ผู้นั้นมีมากเพียงใด ความสุขที่มีก็จะแปรผันตามมากยิ่งขึ้นเท่านั้น ปัจจุบันเรื่องเสรีภาพการใช้ชีวิตก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่มาก การกระทำของคนหนึ่งๆ บางครั้งมันก็ปฏิเสธยากมากๆ เลยว่า จะไม่ส่งผลกระทบไปถึงต่อคนอีกหลายคน ดังนั้นเสรีภาพในการใช้ชีวิตควรตั้งอยู่บนบรรทัดฐานของการไม่รบกวนผู้อื่น
จากความคิดของทั้ง 4 คน จะเห็นได้ว่า มันไม่มีอะไรที่จะถูกเสมอไป แม้ความคิดนั้นจะถูกกลั่นกรองมาจากคนที่หวังดีต่อคนอื่นมากสักแค่ไหน อย่างจอห์น สจ๊วต มิลล์ หรือการพยายามเอาตัวเองออกจากพื้นที่อันตรายและสร้างเกราะป้องกันไม่ให้บาดเจ็บในอนาคต อย่างเซเนกา ทั้งหมดต่างมีแง่มุมที่จะให้ทั้งคุณและโทษ ในทางตรงและทางอ้อม ตรงนี้แหละที่เป็นแก่นสารของปรัชญา ที่จะบอกว่ามันไม่อะไรมีสมบูรณ์และเบ็ดเสร็จเพียงหนึ่งเดียว จงมองความรู้ตรงนี้เป็นทางเลือกให้แก่ตัวเอง ให้มันเป็นแค่อาภรณ์ที่ประดับจิตใจ ที่เราสามารถเป็นคนเลือกที่จะเชื่อหรือไม่ นัยหนึ่งของปรัชญามันเหมือนเกมส์ เดอะซิมส์ ที่ให้เราเลือกที่จะเป็นมนุษย์ในลักษณะไหน ในฐานะที่เราเป็นผู้สร้าง สำหรับตัวผู้เขียนแนวคิดทางปรัชญามีประโยชน์ต่อเราตรงที่มันจะช่วยให้คุณสำรวจและพัฒนาความคิดตนเองให้ไกล ไม่อยู่หยุดอยู่กับที่ เสน่ห์ของปรัชญาคือ การถกเถียงความรู้แบบไม่รู้จบ มีการเวียนว่าย หักล้าง ส่งเสริม เสน่ห์ตรงนี้ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ขึ้นทางปัญญา การถกเถียงในหมู่นักปรัชญามีตั้งแต่เรื่องการหาความจริงของปรากฏการณ์ในทุกระดับ การมีชีวิตอยู่ การเติบโต การเมืองการปกครอง สำนึกและจิตใจ ศีลธรรมจนถึงการมีอยู่ของพระเจ้า ซึ่งนอกจากบรรดาเรื่องที่พูดมาทั้งหมดนี้เรื่องของ “ความสุข” ถือว่าเป็นโจทย์ที่ยิ่งใหญ่มาโดยตลอด Source : W.Ministry - https://bit.ly/2RJDUql ============================ เรื่องราวของการสร้างพลังแห่งความสุขในวิถี Zen หลักธรรมในการดำเนินชีวิต อาหาร ความสวยความงาม ดีไซน์ เทคโนโลยี ในสไตล์ญี่ปุ่น เพื่อยกระดับชีวิตให้มีความสุขยิ่งขึ้น Facebook : ความสุขวิถี ZEN, เนื้อแดดเดียวสูตรญี่ปุ่น Zenniku Blockdit : ความสุขวิถี ZEN Instagram : zenniku.zenway
Comentarios